ประเภทของคอมพิวเตอร์

เนื่องจากคอมพิวเตอร์ในแต่ละยุคมีความสามารถแตกต่างกัน การแบ่งประเภทของคอมพิวเตอร์จึงต้องอาศัยการแบ่งประเภทของเครื่องที่อยู่ในยุคเดียวกัน ซึ่งมีวิธีการแบ่ง 3 วิธี ดังนี้ 
1.) แบ่งตามวิธีการประมวลผล 
2.) แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน 
3.) แบ่งตามขนาดของคอมพิวเตอร์ 
สำหรับการเรียนรู้เนื้อหานี้จะแบ่งคอมพิวเตอร์ตามวิธีที่ 3 คือแบ่งตามขนาดของคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้ 
1.) ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super computer) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถสูงมาก สามารถต่อพ่วงไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ ราคาค่อนข้างสูงเพราะการออกแบบและการผลิตต้องใช้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาก นิยมใช้ในงานส่งดาวเทียมและยานอวกาศ สำหรับประเทศไทยมีใช้ที่กรมอุตุอนิยมวิทยา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นต้น

 
2.) เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่สามารถใช้งานกับข้อมูลจำนวนมาก ๆ ได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์แบบอื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อไปยังปลายทางได้ ทำงานพร้อมกันได้หลายงานและใช้ได้หลายคนพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเครื่องเมนเฟรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ/ตู้เอทีเอ็ม(ATM) ของธนาคาร


3.) มินิคอมพิวเตอร์ (Mini Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดกลางส่วนมากใช้กับหน่วยงานธุรกิจขนาดเล็กและมีราคาถูกลง สามารถทำงานได้หลายงานพร้อมกันเหมือนเครื่องเมนเฟรม แต่ขีดความสามารถในการต่อพ่วงน้อยกว่า หน่วยงานที่ใช้ส่วนใหญ่ได้แก่ กอง กรม มหาวิทยาลัย บริษัทห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น 


4.) ไมโครคอมพิวเตอร์ (Micro Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้กันทั่วไปและนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) คนทั่วไปนิยมเรียกว่า พีซี (PC) ใช้ตัวประมวลผลแบบชิพ (Chip) เป็นองค์ประกอบหลัก คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นยังสามารถแบ่งย่อยตามลักษณะประเภท ได้ดังนี้ 
        4.1) คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลชนิดตั้งบนโต๊ะหรือพื้น ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นกล่องขนาดใหญ่ตั้งบนโต๊ะทำงานมีสายเชื่อมโยงไปยังจอภาพ ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานพร้อมแผงแป้นอักขระและเมาส์ นิยมใช้ในหน่วยงานทั่วไป เช่นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ร้านอินเทอร์เน็ตตามบ้านทั่ว ๆ ไป เนื่องจากราคาไม่แพงจนเกินไป 



     

        4.2) คอมพิวเตอร์แบบวางตัก/แล็ปทอป (Laptop Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบกระเป๋าหิ้ว สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ในเวลาอาจใช้วางบนตักได้ (Lap แปลว่า ตัก) คอมพิวเตอร์รุ่นนี้มีแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำรองในตัว ใช้จอภาพผลึกเหลวซึ่งเรียกว่า แอลซีดี (LCD : Liquid Crystal Display) ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยม


        4.3) คอมพิวเตอร์ขนาดสมุดบันทึก (Notebook) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาก มีขนาดเล็กเท่าหนังสือขนาดใดก็ได้ สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก มีแบตเตอรี่ในตัวและสามารถพ่วงต่อกับโทรศัพท์เพื่อรับส่งข้อมูลในระยะไกลได้ คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปมากและเป็นที่นิยมใช้กันเป็นอย่างมาก


        4.4) คอมพิวเตอร์ขนาดฝ่ามือ (Palmtop Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก สามารถวางบนฝ่ามือแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากแป้นอักขระ รวมทั้งจอภาพมีขนาดเล็กเกินไป ไม่สะดวกต่อการใช้งาน แต่เหมาะสำหรับการเก็บบันทึกส่วนตัว เช่น หมายเลขโทรศัพท์หรือบันทึกชื่อเพื่อน หรือรายละเอียดส่วนตัว


        4.5) คอมพิวเตอร์ขนาดมือถือ (Handheld Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กถือด้วยมือ จอภาพเล็กปกตินิยมใช้เพื่อการบันทึกตัวเลขมาตรไฟฟ้า มาตรน้ำประปาโดยพนักงานจะถือคอมพิวเตอร์ไปอ่านมาตรวัดแล้วกดปุ่มบันทึก ในหน่วยงานขนาดใหญ่จะใช้ในการตรวจนับสินค้า 






       

      4.6) คอมพิวเตอร์แบบพีดีเอหรือเครื่องช่วยงานบุคคลแบบดิจิทัล (PDA : Personal Digital Assistant) คอมพิวเตอร์แบบพีดีเอ สามารถพกพาได้อย่างสะดวก ใช้ปากกาแสง (Light Pen) เขียนข้อมูลบนหน้าจอ บางครั้งใช้ปากกาแสงเป็นอุปกรณ์เพื่อเลือกทำงานบนหน้าจอเหมือนกับสมุดบันทึก ภายในเครื่องมีโปรแกรมที่อ่านลายมือ เมื่อเขียนแล้วเปลี่ยนเป็นตัวอักษรได้โดยใช้ปากกาพิเศษ ปัจจุบันยังไม่นิยมมากนักเนื่องจากราคายังแพงพอสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น